โพสต์แนะนำ

สิ่งลี้ลับ ที่เป็นปริศนา เลข 7

ปริศนาเลข 7   สิ่งลี้ลับ ที่เป็นปริศนา  เลข  7 สิ่งที่ ธรรมชาติสร้าง มาล้วนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เลข 7 ในหลากหลายความเชื่อ ในหลายๆศาส...

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พระเสาร์ ดาวเสาร์ คนเกิดวันเสาร์

เลข 7 พระเสาร์  ดาวเสาร์  คนเกิดวันเสาร์


พระเสาร์ (เทวนาครี: शनि ศนิ) เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง ในคติไทย พระเสาร์ถูกสร้างขึ้นมาจากพยัคฆ์ (เสือ) 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ แล้วเสกได้เป็นพระเสาร์มีสีวรกายดำคล้ำ ทรงพยัคฆ์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และแสดงถึงอักษรวรรค ตะ เล็ก (ต ถ ท ธ น)

พระเสาร์เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางรุนแรง นั่นคือ ผู้ใดเกิดวันเสาร์หรือมีพระเสาร์สถิตร่วมกับลัคนา มักมีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม แต่อดทน ตามนิทานชาติเวร พระเสาร์เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์

ในโหราศาสตร์ไทย พระเสาร์ถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ ๗ (เลขเจ็ดไทย) และด้วยเหตุที่สร้างขึ้นมาจากพยัคฆ์ 10 ตัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น 10 สำหรับพระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันเสาร์ก็คือปางนาคปรก

เมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตก พระเสาร์อาจเทียบได้กับโครนอสตามเทพปกรณัมกรีก และแซทเทิร์นตามเทพปกรณัมโรมัน







ดาวเสาร์ (อังกฤษ: Saturn) เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 6 จากดวงอาทิตย์ ถัดจากดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์เป็นดาวแก๊สยักษ์ที่มีรัศมีเฉลี่ยมากกว่าโลกประมาณเก้าเท่า[3][4] แม้ว่าจะมีความหนาแน่นเป็นหนึ่งในแปดของโลก แต่ปริมาตรของมันมีมากกว่าโลกถึง 95 เท่า[5][6][7] ดาวเสาร์ตั้งชื่อตามเทพโรมันแห่งการเกษตร สัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์ของดาวเสาร์ (♄) แทนเคียวของเทพเจ้า

ดาวเสาร์มีรูปร่างป่องออกตามแนวเส้นศูนย์สูตร ที่เรียกว่าทรงกลมแป้น (oblate spheroid) เส้นผ่านศูนย์กลางตามแนวขั้วสั้นกว่าตามแนวเส้นศูนย์สูตรเกือบ 10% เป็นผลจากการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว ดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ก็มีลักษณะเป็นทรงกลมแป้นเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าดาวเสาร์ ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะ ที่มีความหนาแน่นเฉลี่ยน้อยกว่าน้ำ (0.70 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร) อย่างไรก็ตาม บรรยากาศชั้นบนของดาวเสาร์มีความหนาแน่นน้อยกว่านี้ ขณะที่ที่แกนมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ วงแหวนของดาวเสาร์ประกอบไปด้วย เศษหินและน้ำแข็งขนาดเล็ก เรียงตัวอยู่ในระนาบเดียวกัน และวงแหวนของดาวเสาร์ก็ประกอบไปด้วย วงแหวนย่อยๆมากมาย ความจริงแล้ววงแหวนดาวเสาร์นั้นบางมาก โดยมีความหนาเฉลี่ยเพียง 500 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เศษวัตถุในวงแหวนมีความสามารถในการสะท้อนแสงดี และกว้างกว่า 80,000 กิโลเมตร จึงสามารถสังเกตได้จากโลก



ตำนานพระเสาร์
เรื่องราวของพระเสาร์ ก็ขอเอาด้านความรู้วิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์กันสักนิดนะ พระเสาร์ (Saturn) เป็นดาวพระเคราะห์ขนาดใหญ่รองจากดาวพฤหัสบดี มีวงแหวนล้อมรอบ กาลิเลโอพบตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๕๓ และเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๙ ฮุยเจน (Huygens) นักดาราศาสตร์ชาวฮอลันดาจึงได้พบวงแหวนรอบดาวพระเสาร์ ดาวพระเสาร์มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗๖,๕๐๐ ไมล์ ใหญ่กว่าโลกมาก อาจบรรจุโลกได้ถึง ๘๐๐ โลก แต่ความแน่นทึบมีเพียง ๑ ใน ๘ ของโลก จึงหนักเพียง ๙๕ เท่าของโลก ความดึงดูดก็มีน้อย คือมีมากกว่าโลกเพียง ๑ ใน ๕ เท่านั้น ดาวพระเสาร์โคจรห่างจากพระอาทิตย์เฉลี่ยประมาณ ๙.๕๔ หน่วยดาราศาสตร์ ห่างที่สุดราว ๙๓๖,๓๘๘,๐๐๐ ไมล์  ทางโคจรเป็นรูปไข่รี โคจรด้วยความเร็ว ๖ ไมล์ต่อวินาที โคจรรอบดวงอาทิตย์นานถึง ๒๙.๔๖ ปี แต่หมุนรอบตัวเองเร็ว ใช้เวลาราว ๑๐ ชั่วโมง ๓๘ นาทีเท่านั้น ดาวพระเสาร์อยู่ห่างจากโลกที่สุดราว ๑,๐๓๐,๙๑๒,๑๐๐ ไมล์ และใกล้ที่สุดราว ๗๔๒,๖๔๔,๐๐๐ ไมล์
ก็เอาเรื่องนี้มาเจิมกันเพียงเท่านี้ละครับ
เรื่องกำเนิดพระเสาร์ก็ดูๆ จะยุ่งๆ ชวนให้ปวดหมองอีกนั่นแหละครับ ในทางโหราศาสตร์ว่าพระอิศวรทรงสร้างพระเสาร์จากเสือ ๑๐ ตัว ในหนังสือเฉลิมไตรภพกล่าวไว้ดังนี้

แล้วนำพยักฆ์ยิ่งยง          สิบตัวประสงค์
ถวายพระองค์ทรงญาณ
พร้อมเสร็จเสด็จภินิหาร    เพ่งเนตรเสนาพาล
พยัคฆ์เป็นผงคลี
ผ้าทิพย์สีเขียวแกสี่          ห่อผงธุลี
คลุกคลีระคนปนกัน
สวดมนตร์ประน้ำทิพย์วัน   รดลงเร็วพลัน
ห่อนั้นก็เป็นเทพา
ทรงเครื่องรุ่งเรืองรจนา      เขียวทั้งกายา
นามว่าพระเสาร์เสารี

บางตำนานก็ว่าพระเสาร์เป็นโอรสของ พรพลราม กับ นางเรวดี และก็บางตำนานอีกนั่นแหละว่าพระเสาร์เป็นโอรสของพระอาทิตย์องค์ที่เป็น พระสุริยาทิตย์ กับ นางฉายา เฉพาะเรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกหน่อย ก็ไม่หน่อยละมากเหมือนกันแหละ และมีเรื่องอยู่ในวิษณุปุราณะเชียวนะ เรื่องของเรื่องก็คือ พระสุริยาทิตย์หรือพระอาทิตย์นี่แหละมีชายา ๕ องค์ คือ สัญญา ฉายา สุวรรณี สวาดี มหาวีรยา แต่พระอาทิตย์รักนางสัญญามากที่สุด แน่ะ เทวดาก็ยังมีลำเอียงด้วยแฮะ อันว่า นางสัญญาหรือสรัณยา หรือ สังคณา ก็องค์เดียวกันนะเนี่ยเป็นบุตรีของพระวิศุกรรม เมื่อได้กับพระสุริยาทิตย์และอยู่ด้วยกันหลายปีดีดักจนมีลูกถึง ๓ องค์ นัยว่าตอนแรกๆ ก็ทนความร้อนของพระอาทิตย์ได้ นานเข้าชักทนไม่ไหว ที่ทนอยู่จนได้ลูกถึง ๓ องค์น่ะนัยว่าอยู่ทนแล้วนะเนี่ย เห็นจะทนอยู่ต่อไปไม่ไหวก็เล่นอุบาย โดยเธอหลบเสีย หลบไปไหนล่ะ ก็คอยอ่านตอนว่าด้วยเรื่องพระอาทิตย์เถอะส่วนตัวปลอมเธอก็ให้นางฉายาเป็นแทน พระสุริยาทิตย์ก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นการย้อมแมวกัน และก็อยู่ด้วยกันหลายปีจนนางฉายาได้โอรสคือพระเสาร์นี่แหละ เรื่องพระเสาร์เป็นโอรสของพระสุริยาทิตย์กับนางฉายาก็เป็นอย่างที่ว่านี่แหละ แต่ต่อมาความจริงก็ถูกเปิดซิครับ เรื่องอย่างนี้ปิดกันไม่ได้หรอก แต่ในเรื่องน่ะความจริงที่ถูกเปิดออกจะเป็นเรื่องประหลาดไม่เหมือนมนุษย์หรอก อ้อเป็นเรื่องเทวดานี่ ลืมไป เรื่องก็มีว่าวันหนึ่งนางฉายามีความโกรธพระยม พระยมนี่เป็นโอรสของนางสัญญาหรือสรัณยากับพระสุริยาทิตย์ นางฉายาก็แช่งฉับเข้าให้ ผลก็เป็นไปตามที่แช่ง ตรงนี้ละเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง คือผิดธรรมเนียมเทวดา เพราะตามธรรมดาคำแช่งของมารดาจะไม่ยังผลต่อบุตร แต่นี่มีผล พระสุริยาทิตย์ก็ใช้วิชาตรรกวิทยาได้ว่า นางยานี่ต้องไม่ใช่แม่ของพระยมถึงได้แช่งแล้วได้ผล เมื่อไม่ใช่แม่ของพระยมต้องไม่ใช่นางสรัณยา เมื่อไม่ใช่นางสรัณยาก็ต้องเป็นตัวปลอด จับความจริงกันได้ด้วยวิธีการนี้ครับ

เรื่องกำเนิดพระเสาร์มีเรื่องแปลกออกไปอีก ในตำรับสันสกฤตเรื่องปาราศรโหราศาสตร์และศานติศาสตร์น่ะ กล่าวว่าพระเสาร์เกิดที่เมืองเสาราษฎร์ อยู่ในวรรณะศูทร รูปร่างดำเป็นนิล ผอมสูง แต่คงไม่ใช่ดาร์คทอลแอนด์แฮนซั่มหรอก เพราะนัยน์ตาจะเป็นน้ำผึ้ง แต่ฟันใหญ่ ผมเหมือนขนลา และมีฐานะเป็นเพียงคนใช้ ถึงกระนั้นก็มีอาวุธประจำตัว คือมีศูลและธนู มีหาหนะเป็นนกแร้ง แต่บางทีก็ว่าเป็นกา ที่ร้ายไปกว่านั้นในตำรับที่ว่านี่แหละ ยังเหมาเอาว่าพระเสาร์เป็นกะเทยเข้าไปอีก คือเป็นนปุงสกลึงค์ ผมออกประหลาดใจแท้ กะเทยนี่มีแล้วแต่ครั้งกระโน้นหรือ

พระเสาร์นี้ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งกสิกรรมและอารยธรรม ทั้งมีหน้าที่ดูแลรักษาฤดูวสันต์คือฤดูใบไม้ผลิ

ส่วนนามแฝงของพระเสาร์มีดังนี้ครับ
กรูรโลจน์ (มีนัยน์ตาดุ)
ปังคุ (มีขาพิการ)
นิลวาส (อาภรณ์สีดำ)
สัปตารฺจิ (มีเปลวเป็นรัศมีเจ็ดแฉก)
ศนิ (ย่อมมีปรกติช้า)
ศไนสฺจร (ไปไหนช้า)
นันทะ (เงื่องหงอย)

เรื่องพระเสาร์ขาเขยกไปไหนช้าเงื่องหงอยนั่นน่ะ ที่จริงผมก็ได้เล่าไว้ในเรื่องพระคเณศแล้วละ จะฉายซ้ำชนิดสั้นอีกครั้ง คือพระอุมามเหสีพระอิศวรมีโอรส บรรดาเทวดาทั้งหลายทั้งปวงก็ไปแสดงความชื่นชม มีแต่พระเสาร์ไม่ยอมมองพระกุมาร ครั้นพระอุมาตรัสถามพระเสาร์ก็เล่าความจริงว่าตนถูกเมียแช่งไม่ให้มองใครถ้ามองใครผู้นั้นจะพินาศ สาเหตุเพราะเมียโกรธที่ตนเข้าฌาณเพลินจนไม่รู้ว่าเมียบ่นเรื่องอะไร พระอุมาก็ขืนให้ดู พระเสาร์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจำใจดู ผลพระกุมารเลยหัวขาด พระนารายณ์ต้องทรงครุฑไปยังลำน้ำบุษปภัทร ตัดศีรษะช้างมาต่อให้กุมาร พระอุมาเลยสาปให้พระเสาร์ขาเป๋ครับ

อ้อ พระเสาร์ไม่ค่อยจะกินเส้นกับพระอังคารนัก ถึงแม้จะเป็นดาวพระเคราะห์ด้วยกันก็เถอะ ทั้งนี้เพราะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันแต่ปางก่อน คือมีเรื่อง ๒ เรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งพระเสาร์ถือกำเนิดเป็นงู พระอังคารถือกำเนิดเป็นหมองู หมองูก็จับงูไปทรมานให้คนดูเล่น งูก็เจ็บและแค้นละครับ อีกเรื่องหนึ่งพระเสาร์ไปเกิดเป็นต้นตะเคียนพระอังคารไปเกิดเป็นคนมีนามว่าพระยาโปริสาตในขณะที่พระยาโปริสาตไปล่าสัตว์เผลอสะดุดตอตะเคียนเข้าเสี้ยนตำที่เท้า ด้วยความเจ็บปวดก็เลยโมโหตอตะเคียน นี่แหละผลนายเวรแต่ปางก่อนละ พระอังคารกับพระเสาร์จึงปีนเกลียวกัน

ในรามเกียรติ์น่ะพระเสาร์ลงมาเกิดเป็นทหารของพระรามด้วยนะ คือเป็นลิงชื่อนิลพานรหรือวิมล

รูปร่างของพระเสาร์นั้น เขียนเป็นมนุษย์รูปร่างแข็งแรงมีรัตนมณีนิลเป็นอาภรณ์อย่างเทวดา สีกายดำมือถือศูลและธนู มีนัยน์ตาดุ ขาพิการ บนเศียรทำเป็นรัศมี ๗ แฉก และทรงเสือเป็นพาหนะ

ก็เป็นอันจบเรื่องพระเสาร์ครับ ทีนี้ผมก็ต้องต่อเติมเรื่องอื่นอีกนั่นแหละ คราวโน้นผมเพิ่มเรื่องวรรณะต่างๆ ไว้ คราวนี้ผมเพิ่มเรื่องพราหมณ์อย่างเดียว โดยที่ขอคัดจากอภิธานศกุนตลาพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เลย มีดังนี้ครับ



พราหมณ์  เป็นชนชาต (หรือวรรณะ) ที่ ๑ ตระกูลนักบวช แต่ไม่จำเป็นจะต้องบวชทุกคน
มานวธรรมศาสตร์จัดพราหมณ์เป็น ๔ ชั้น (อาศรม) คือ
๑. พรหมจารี  นักเรียน มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติและศึกษาพระเวทในสำนักคณาจารย์คนใดคนหนึ่ง (เทียบกับทางพุทธศาสน์ คือสามเณรและนวกะ)
๒. คฤหัสบดี ผู้ครองบ้าน มีภรรยาและครอบครัวเป็นหัวหน้าในบ้าน อ่านและสอนพระเวท ทำการบูชาเองหรือช่วยผู้อื่นกระทำชญกรรม ให้ทานและรับทักษิณ
๓. วานปรัสถ์  ผู้อยู่ป่า ละเคหสถานและครอบครัวเข้าป่าเพื่อทรมานตน มักน้อยในอาหารและเครื่องนุ่งหุ่ม กระทำทุกขกิริยาต่างๆ สมาธิและมั่นคงในกิจวัตร (พวกดาบสและโยคีอยู่ในจำพวกนี้)
๔. สันน์ยาสี เพียรภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน และตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงพระปรพรหมและนฤพาน อีกนัยหนึ่งเรียกว่าภิกษุ (แต่คำภิกษุหรือภิกขุในสมัยนี้ใช้เรียกแต่นักบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพื้น พราหมณ์ที่ประพฤติอย่างภิกขุคงเรียกว่าสันน์ยาสีอย่างเดียว)

ชาติพราหมณ์ มีแบ่งเป็นตระกูลเล็กตระกูลน้อยเป็นอันมากเหลือที่จะพรรณาได้หมด ที่นับว่าเป็นตระกูลหรือคณะอันมีชื่อเสียงมากที่สุด คือคณะเหนือกับคณะใต้ดังนี้
ปัญจโคท (คณะเหนือ) อยู่ในแคว้นองคราษฎร์ (Bengal) มี ๕ เหล่า คือ
๑. กานยกุพชะ อยู่เมืองกันยกุพช์ (Kanauj)
๒. สารัสวัต  อยู่ตามริมฝั่งน้ำสรัสวดี (Sarsuti River)
๓. โคทะ (Gauda Bengal)
๔. มิถิลา (Nort Bihar)
๕. อุตกล (Orissa)

ปัญจทราวิฑ (คณะใต้) คือคณะพราหมณ์ทมิฬ มี ๕ เหล่าคือ
๑. มหาราษฎร์ (Mahratta Country)
๒. เตลิงคะ (Telegu Country)
๓. ทราวิท หรือทมิฬ (Taimil Country)
๔. กรรนาฏ (Canarese Country)
๕. คูร์ชระ (Gujerat)

ข้าพเจ้าได้เขียนนามตำบลเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้ เพราะเห็นว่าถ้ามิฉะนั้นผู้ศึกษาภูมิศาสตร์ตามตำราฝรั่งจะฉงน จะบ่นว่าไม่รู้ว่าที่ไหนเป็นที่ไหน เช่นเมืองมหาราษฎร์เป็นต้น เคยได้ยินแต่ครูเขาเรียกอย่างอังกฤษว่า มาแร็ตต้า จะให้รู้จักอย่างไร เมื่อมาเห็นเขียนเป็นไทยว่ามหาราษฎร์

ข้างต้นผมคัดจากอภิธานศกุนตลาครับ แต่เห็นมีความต่อเนื่องน่ารู้อีกนิด ตรงเรื่องวานปรัสถ์นั่นแหละ ในหนังสือชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของหลวงสารานุประพันธ์ได้แบ่งย่อยลงไปอีกขอเติมเลยนะครับ

๑. ฤาษี แปลว่าผู้แสวง หมายถึงการแสวงหาโมกษะ คือการหลุดพ้นจากสงสารวัฏความเวียนว่ายตายเกิด
๒. โยคี แปลว่าผู้บำเพ็ญโยคะ คือความเพ่งเล็งในดวงจิต เพื่อประโยชน์ให้อาตมันหรือวิญญาณได้เข้าร่วมอยู่ในปรมาตมัน (หรือปรพรหม) ให้เกิดความบริสุทธิ์ใสสะอาดแม้กระทบอารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรวนแปร
๓. ดาบส  แปลว่าผู้บำเพ็ญตบะ คือการทรมานกายโดยวิธีฝืนปกติแห่งอิริยาบถต่างๆ เพื่อหวังผลสำเร็จเป็นผู้วิเศษ เช่น ยืนตีนเดียว เหนี่ยวกินลมอยู่นานนับด้วยสิบๆ ปี หรือนั่งสมาธิไม่ลุกขึ้นนับด้วยสิบๆ ปี
๔. มุนี  แปลว่าผู้สงบ ได้แก่ผู้บำเพ็ญตบะที่นุ่งห่มสีเหลือง
๕. สิทธา แปลว่าผู้สำเร็จฌานสมาบัติ คือผู้กระทำตบะและโยคะ ได้ถึงที่สุดแล้ว
๖. นักพรต แปลว่าผู้บวช และถือพรตพรหมจรรย์ตามลัทธิพราหมณ์
๗. ชฎิล แปลว่า ฤาษีผู้มุ่นมวยผมสูงเป็นชฎา

ความรู้เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ทำให้ผมเขียนเรื่องชุดนี้ได้สบายใจขึ้นครับ เพราะไม่ต้องขยายความของเทพให้ได้ยาวพอเหมาะกับหน้า อย่าได้ถือเป็นเรื่องกริ้วโกรธเลยครับ ผู้อ่านบางคนยังเป็นนักเรียนนักศึกษาที่จำใจเรียนวรรณคดีน่ะจะพลอยได้รับความรู้ไปอย่างที่ไม่คิดว่ามันคือตำราครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร